หมูป่น (Porcine meal)
หมูป่น (Porcine meal) เนื้อหมูป่น เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ได้จากสัตว์ จะมีสารอาหารที่เยอะ อย่างเช่นโปรตีน จะมีสัดส่วนของโปรตีนสูง
เนื้อหมูป่น(Porcine meal) , เนื้อและกระดูกหมูป่น (Meat and Bone meal) ในปัจจุบันมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในอาหารสัตว์ ในภาพรวมเป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์ที่มีคุณภาพดีและสามารถใช้เป็นอาหารเสริมแร่ธาตุโดยเฉพาะฟอสฟอรัสและแคลเซียม
โดยทั่วไปการผลิตเนื้อป่นจะหมายถึงเนื้อเยื่อของสัตว์ไม่มีส่วนของกีบ ขน หนัง เศษไขมัน แต่อาจถูกผสมกับเลือดป่น หรือกระดูกป่นบ้างเล็กน้อย ซึ่งปกติจะมีโปรตีนอยู่ในช่วง 45-55% แล้วแต่วัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิต
การจำแนกเนื้อและกระดูกป่นออกจากเนื้อป่นจะใช้ระดับของฟอสฟอรัสในการจำแนก กล่าวคือ เนื้อป่นจะมีปริมาณฟอสฟอรัสไม่เกิน 4.4% หรือในบางครั้งผู้ผลิตจะเติมส่วนของกระดูกลงไปเพื่อปรับปริมาณของฟอสฟอรัสให้ได้ตามเงื่อนไขของกฎหมายวัตถุดิบอาหารสัตว์
ปัจจุบันประเทศไทยผลิตเนื้อหมูป่น , เนื้อและกระดูกหมูป่นสำหรับเป็นอาหารสัตว์ได้น้อยมาก เนื่องด้วยสาเหตุการขาดแคลนแหล่งโปรตีนจากสัตว์คุณภาพดี จึงมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาใช้เป็นจำนวนมาก การนำมาใช้เป็นแหล่งโปรตีนในอาหารสัตว์เราควรทราบถึงขั้นตอนการผลิตเพื่อทราบถึงคุณค่าทางโภชนะที่จะนำมาใช้ให้เหมาะสมต่อไป
ขั้นตอนการทำเนื้อหมูป่น ในการทำเนื้อหมูป่น เราจะมีขั้นตอนการทำดังนี้
1. บด (Crushing) เมื่อวัตถุดิบมาถึงโรงงานจะถูกนำมาบดให้ละเอียดจนได้ชิ้นที่มีขนาด ≤50 มิลลิเมตร แล้วเก็บไว้ในถังพักขนาด 10 ตัน
2. ทำให้สุก (Cooking) ขั้นตอนนี้วัตถุดิบที่ผ่านการบดจะถูกทำให้สุกและสเตอริไรซ์ด้วยความร้อนและความดันในหม้อนึ่งในถังขนาดใหญ่ โดยจะมีการใช้อุณหภูมิอยู่ที่ 133 องศาเซลเซียส ความดัน 3 บาร์ เป็นเวลา 20 นาที ซึ่งภายในหม้อนึ่งจะมีการกวนตลอดเวลา เพื่อให้เนื้อป่นที่ได้มีความสุกและฆ่าเชื้อโรคอย่างทั่วถึง ขั้นตอนนี้ความร้อนและอุณหภูมิที่ใช้จะมีความสำคัญมากต่อคุณภาพของเนื้อป่นที่ได้ เมื่อเสร็จขั้นตอนแล้ววัตถุดิบก็จะถูกลำเลียงต่อไปยังถังพัก
3. ทำให้แห้ง (Drying) เนื้อที่ได้ยังมีส่วนประกอบของน้ำอยู่มากจึงจับตัวเป็นก้อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการทำให้แห้งด้วยการโดยใช้วิธีการลำเลียงบนสายพานร้อน (Disc Dryers) เพื่อระเหยน้ำออกไป จนความชื้นเหลืออยู่ไม่เกิน 6% ซึ่งถือเป็นเนื้อหมูป่นที่ดีและได้มาตรฐาน
4. แยกไขมัน (Separate fat) หลังจากระเหยน้ำออกโดยผ่านสายพานแล้ว เนื้อที่ได้จะมีลักษณะกายภาพเป็นแผ่น ซึ่งจะถูกลำเลียงไปสู่กระบวนการแยกไขมัน โดยวิธี สครูเพลส (Screw Press) ซึ่งจะทำให้ไขมันบางส่วนแยกออกมา ไขมันส่วนนี้จะถูกนำกรองให้สะอาดแล้วเก็บไว้ในถังพักเพื่อจำหน่ายเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ส่วนเนื้อป่นที่ถูกบีบไขมันออกไปแล้วจะถูกนำมาบดและร่อนเอากระดูกบางส่วนออก ลำเลียงเก็บไว้ในถังพัก เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการบรรจุถุงและจำหน่ายต่อไป
ขั้นตอนการผลิตที่กล่าวมาทุกขั้นตอนนั้น ผู้ผลิตจะมีการตรวจสอบและเฝ้าระวังควบคุมให้ได้มาตรฐานการผลิตโดยนักวิชาการผู้ชำนาญการ จนได้วัตถุดิบเนื้อหมูป่น,เนื้อหมูและกระดูกหมูป่นที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการดังต่อไปนี้
เนื้อหมูป่น โปรตีน 50% ( Porcine Meal Jean Schaap : Protein 50% )
โปรตีน (Protein) 50% min
เถ้า (Ash) 32% max
เยื่อใย (Fiber) 4% max
ฟอสฟอรัส (Phosphorus) 3% min
ไขมัน (Fat) 13% max
ความชื้น (Moisture) 10% max
Pepsin Digestibility 80% min
แคลเซียม (Calcium) 8% min
เนื้อและกระดูกหมูป่นเป็นโปรตีนจากสัตว์ที่เป็นแหล่งของแร่ธาตุฟอสฟอรัส แคลเซียม และแร่ธาตุปลีกย่อยเกือบทุกชนิดแต่เนื่องจากในขั้นตอนการผลิตที่มีการใช้ความร้อนในระหว่างการแปรรูปทำให้กรดอะมิโนบางตัวใช้ประโยชน์ได้ต่ำลง ได้แก่ กรดอะมิโนไลซีน เมทไธโอนีน และทรีโอนีน เป็นกรดอะมิโน อันดับแรกๆ ที่ขาดแคลนในสุกรตามลำดับ ซึ่งคุณภาพของโปรตีนผันแปรตามวัตถุดิบและกรรมวิธีที่ใช้ในการผลิต นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในการใช้เนื้อและกระดูกหมูป่นยังอยู่ที่มาตรฐานความปลอดภัยของการติดเชื้อโรคบางชนิด การตกค้างของปฏิชีวนะ การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ เช่น Salmonella, E.coli และ ปริมาณเถ้ากับแคลเซียมที่สูงเกินไป
การนำไปใช้ในอาหารสัตว์จึงควรเลือกเนื้อและกระดูกหมูป่นจากโรงงานที่มีกรรมวิธีการผลิตที่ได้มาตรฐานและควรปรับคุณค่าทางโภชนาการให้เหมาะสมกับสัตว์แต่ละชนิด