ปลาป่น
ปลาป่นเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ ให้โปรตีนสูงและมีคุณภาพดี ทำมาจากปลาเป็ดเศษปลาเล็กปลาน้อย หรือหัวปลาที่เหลือ จากโรงงานทำปลากระป๋อง หรือปลาตากแห้ง หรือตลาดปลา หรืออาหารทะเลต่างๆ ทำให้ปลาป่นที่ผลิตได้มีคุณภาพหลากหลาย ดังนั้นในการซื้อขายปลาป่น จึงมีการแบ่งเกรด ตามเปอร์เซนต์โปรตีนในปลาป่น โดยปลาป่นชั้นคุณภาพที่ 1 จะมีโปรตีนไม่น้อยกว่า 60%
ปลาป่น ชั้นคุณภาพที่ 2 มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 55%
และปลาป่นชั้นคุณภาพที่ 3 มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 50%
ซึ่งการเลือกซื้อปลาป่นต้องดูว่าปลาป่นนั้นมีโปรตีนในสัดส่วนเท่าไหร่ และดูปัจจัยอื่นๆประกอบด้วยเช่นสิ่งเจือปน ความชื้น เป็นต้น
คุณสมบัติ
ปลาป่นที่ใช้ประกอบในสูตรอาหารสัตว์ ส่วนใหญ่มีโปรตีนสูงประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาและขั้นตอนการผลิตปลาป่น นั่นเอง
มีกรดอะมิโน ไลซีน และเมทไธโอนีนสูง
มีธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง
มีไวตามินบีสูง โดยเฉพาะไวตามินบี 12 และ บี 2
การผลิตปลาป่น
ปลาป่นเป็นปลาที่ได้จากโรงงานปลากระป๋อง ตลาดปลา หรือเหลือจากการแปรรูปอื่นๆ เมื่อนำปลามาจะมีการอบให้แห้ง หรือตาก และนำเข้าสู่ขั้นตอนของการบดต่อไป
วัตถุดิบที่นำมาผลิตปลาป่น
1. ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งใช้ปลาทูน่าที่มาจากต่างประเทศและมีเอกสารใบรับรองแหล่งที่มาและวิธีการจับปลาอย่างถูกต้อง
2. ปลาเบญจพรรณ ที่ได้ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อปลา ภายใต้เงื่อนไขการส่งมอบว่าจะต้องมีเอกสารยืนยัน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
3. กลุ่มปลาเป็ด ซึ่งเป็นปลาที่ได้จากการทำประมงหลากหลายประเภท เป็นปลาประเภทที่คนไม่นิยมบริโภค จึงเป็นที่มาของการวางระบบการรับรองปลาป่นของกรมประมง โดยระเบียบของกรมประมง การทำประมงของไทยทุกประเภท จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเรือ เรือนั้นต้องมีอาชญาบัตร ต้องมีล็อคบุ๊ค ( Log Book ) หรือสมุดประจำเรือ ที่จะระบุว่าเรือไปจับปลาจากแหล่งใด ใช้อวนประเภทใด และได้ปลาประเภทใดมา เมื่อเรือประมงนำปลาส่งเข้าแพปลา จะมีใบซื้อขายปลา (MPCD) ที่จะระบุว่าซื้อจากเรือลำใด Log Book อะไร การมีเอกสารหลักฐานรับรองต่อกันเป็นทอดๆ เช่นนี้ จะทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้อย่างถูกต้อง
ข้อจำกัดในการใช้
- ปลาป่นมีราคาแพง เนื่องจากปลาป่นมีราคาแพง ดังนั้นจึงใช้เป็นส่วนประกอบ แต่ไม่ใช่ส่วนประกอบหลัก ในสูตรอาหาร แต่ก็ขาดไม่ได้เพราะมีความจำเป็นมากนั้นเอง
- มีการปลอมปนด้วยวัสดุอื่นที่มีราคาถูก อาทิ ทราย เปลือกหอยบด ยูเรีย ขนไก่ เป็นต้น ทำให้คุณค่าทางอาหารลดลง จะต้องระมัดระวังในการนำมาใช้ เนื่องจากปลาป่นอาจจะมีส่วนผสมหรือสิ่งปลอมปนได้ จึงควรเลือกซื้อให้ดี
- การใช้ปลาป่นระดับสูงเกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ นอกจากจะทำให้อาหารผสมมีราคาแพงแล้วยังมีผลทำให้เนื้อสุกร และไข่กลิ่นคาวปลาด้วย การเลือกใช้ปลาป่นจึงใช้ให้เหมาะสมกับสูตรอาหารสัตว์แต่ละชนิดนั่นเอง
- ปลาป่นมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ มีโปรตีนแตกต่างกันมาก ต้องระวังในการเลือกซื้อปลาป่นให้ได้คุณภาพตามต้องการ มิฉะนั้นจะมีผลทำให้สูตรอาหารที่คำนวณไว้ไม่เพียงพอกับความต้องการของสัตว์ได้
- ดังนั้นการเลือกซื้อปลาป่น จึงควรเลือกปลาป่นที่ได้คุณภาพ จากแหล่งที่ไว้ใจได้
ข้อแนะนำในการใช้
- เลือกใช้ปลาป่นให้เหมาะกับสูตรอาหารสัตว์
- ใช้ปลาป่นในปริมาณที่เหมาะสม
ส่วนประกอบทางเคมี
ปลาป่นเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ได้จากสัตว์ ดังนั้นจึงมีส่วนประกอบบางอย่างไม่เหมือนกับวัตถุดิบจากพืช ลองมาดูกันครับว่าปลาป่นมีส่วนผสมอะไร อย่างไรบ้าง
ปลาป่น | ปลาป่น | ปลาป่น | |
---|---|---|---|
60% | 55% | 50% | |
ส่วนประกอบ (%) | |||
ความชื้น | 8 | 8 | 8 |
โปรตีน | 60 | 55 | 49.1 |
ไขมัน | 10 | 8 | - |
เยื่อใย | - | 10 | - |
เถ้า | 19 | 26 | - |
แคลเซียม | 5 | 7.7 | - |
ฟอสฟอรัสใช้ประโยชน์ได้ | 3 | 3.8 | - |
พลังงานใช้ประโยชน์ได้ (กิโลแคลอรี/กก) | |||
ในสุกร | 2,550 | 2,550 | - |
ในสัตว์ปีก | 2,950 | 2,948 | - |
กรดอะมิโน (%) | |||
ไลซีน | 4.57 | 4.15 | 3.53 |
เมทไธโอนีน | 1.57 | 1.44 | 1.27 |
เมทไธโอนีน+ซีสตีน | 2.14 | 2.0 | 1.47 |
ทริปโตเฟน | 0.62 | 0.60 | 0.47 |
ทรีโอนีน | 2.44 | 2.24 | 1.81 |
ไอโซลูซีน | 2.59 | 2.37 | 2.07 |
อาร์จินีน | 3.52 | 3.22 | 2.74 |
ลูซีน | 4.19 | 3.84 | 3.29 |
เฟนิลอะลานีน+ไทโรซีน | 4.16 | 4.0 | 2.62 |
ฮิสติดีน | 1.26 | 1.15 | 0.89 |
เวลีน | 2.95 | 2.70 | 2.53 |
ไกลซีน | 4.33 | 4.0 | 3.43 |